Risk Management
Leave a comment

ปฏิรูประบบการจ่ายโบนัสในธนาคาร

เรายังถกเถียงกันอยู่ ว่าอะไรคือสาเหตุหลักของวิกฤตทางการเงินซึ่งเริ่มต้นในปี 2007 และจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก แต่หนึ่งปัจจัยที่ชัดเจน คือการ take risk มากเกินไปของธนาคารหลายแห่ง

 

ตัวอย่างหนึ่งคือ ดอกเบี้ยที่ต่ำ ราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการใช้จ่ายเกินตัวในสหรัฐ เป็นแรงจูงใจให้ธนาคารปล่อยกู้โดยไม่พิจารณารอบคอบ และโดยคิดว่ารับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ (จากการปล่อยกู้) ก็สามารถขายความเสี่ยงออกไปได้ด้วยเครื่องมือทางการเงินเช่น CDO สุดท้ายความเสี่ยงในระบบโดยรวมก็มีมากเกินไป และเมื่อปัจจัยภายนอกเปลี่ยน (ฟองสบู่แตก) ทั้งระบบก็ปั่นป่วน

 

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

 

การที่ธนาคารทำแบบนี้ หรือจะพูดให้ชัดคือ การที่พนักงานธนาคารทำแบบนี้ ก็เพราะการ “ให้รางวัลผลงานเฉพาะหน้า” ในรูปแบบของเงินเพิ่มที่สัมพันธ์กับผลงาน หรือโบนัสนั่นเอง เรื่องโบนัสของนายธนาคารนี่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในสหรัฐ ประชาชนโมโหว่านอกจากจำนวนเงินโบนัสจะมหาศาลแล้ว แม้ธนาคารที่บริหารจะขาดทุน หรือจะถูกควบกิจการ ผู้บริหารก็ยังได้โบนัสก้อนโตกันทั่วหน้า โดยอ้างว่าเป็นข้อตกลงที่อยู่ในสัญญาจ้างงานจึงไม่จ่ายไม่ได้

 

Protest at Bank of America over CEO's exit bonus

 

ในการประชุม G20 เมื่อเดือนเมษาฯ ที่ผ่านมา มีการตั้ง Financial Stability Board ขึ้นเพื่อประสานการทำงานขององค์กรควบคุม เช่น ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ หนึ่งในคำแนะนำของ FSB ก็คือการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม (Sound Compensation Practices) ซึ่งคำแนะนำนี้นอกจากจะ กระทบผู้บริหารระดับสูงแล้ว ยังครอบคลุมพนักงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการเพิ่มความเสี่ยงของธนาคาร เช่น เจ้าหน้าที่สินเชื่อ และ trader ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักมีโบนัส เชื่อมโยงกับผลงาน

 

หลักสำคัญๆ ที่เสนอคือ

  1. ก้อนโบนัสรวมทั้งองค์กร ควรคำนวณจาก cost ของเงินกองทุนและ liquidity risk จากธุรกรรมในปีนั้นๆ ด้วย นอกเหนือไปจากกำไรสุทธิ
  2. แบ่งจ่ายโบนัส ไม่จ่ายให้ทั้งหมดในทันที แต่ทยอยจ่ายโดยติดตาม “ผล” ของงานที่ได้ทำไว้
  3. จ่ายโบนัสส่วนหนึ่งเป็นหุ้น (เป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ เช่น 50% ของโบนัสทั้งหมด)
  4. ไม่ควรมี guaranteed bonus เพราะโบนัสควรสัมพันธ์กับผลงาน

 

การทยอยจ่าย ซึ่งจะแยกการ “ได้” โบนัสจากการ “จ่าย” โบนัส เช่น ปีนี้ ได้โบนัส 100 บาท ซึ่งคำนวณจากยอดสินเชื่อใหม่ จ่ายให้ทันที 50 บาท ที่เหลือทยอยจ่ายปีละ 10 บาทเป็นเวลาอีก 5 ปี

 

สมมุติว่าผ่านปีแรกไม่มีปัญหา ก็จ่ายโบนัสอีก 10 บาท แต่ถ้าผ่านไปสองปีแล้วปรากฎว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปในปีเริ่มต้นนั้น กลายเป็นสินเชื่อ “เสีย” ซะเยอะ โบนัสส่วนที่เหลือก็ไม่จ่ายให้ หรืออาจให้มีการ เรียกคืน โบนัสที่จ่ายไปก่อนหน้าแล้วด้วย เช่นเรียกคืนเหลือแค่ 60%

 

ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้น ก็ให้จ่ายโบนัสทันทีเป็นสัดส่วนที่น้อยลง และทยอยจ่ายเป็นระยะเวลานานขึ้น

 

ส่วนการจ่ายโบนัสเป็นหุ้นส่วนหนึ่งนั้น เพื่อโยงค่าตอบแทนเข้ากับความสำเร็จขององค์กร และสร้างระบบแรงจูงใจให้พนักงานทำงานเพื่อประโยชน์ระยะยาวขององค์กรนั่นเอง

 

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการให้หลักปฏิบัติที่ชัดเจนทีเดียว สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือ FSB มีอำนาจหรืออิทธิพลทำให้หลักเหล่านี้กลายเป็นข้อบังคับที่ใช้ทั่วกันได้หรือเปล่า เพราะถ้าไม่ คนก็คงจะหนีไปทำงานธนาคารทียังจ่ายโบนัสในรูปแบบเดิมๆ

 

อ่านเพิ่มเติม

Huge Bonus

Images by Neil ParekhUltra Flat Hightlights

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *