ประสพการณ์จากวิกฤตสถาบันการเงินที่เริ่มต้นในปี 2007 ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของข้อบังคับว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำของสถาบันการเงิน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Basel II ว่ายังไม่สามารถป้องกันวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในปี 2009 Basel Committee ก็ได้ปรับปรุงข้อบังคับไปแล้วหลายอย่างในส่วนที่เกี่ยวกับบัญชีเพื่อการค้า เช่นการเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงสำหรับธุรกรรมการเงินที่ซับซ้อน (securitization, resecuritization) การให้คำนวณ stressed Value at Risk (stressed VaR) และ Incremental Risk Charge (IRC) เป็นต้น
ปลายปี 2009 ที่ผ่านมา Basel Committee ได้เสนอที่จะปรับปรุง Basel II ในหลายด้าน หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มข้อจำกัดด้านการรักษาสภาพคล่อง นอกเหนือไปจากข้อจำกัดด้านการดำรงเงินกองทุน (เนื่องจากปัญหาด้านสภาพคล่อง เป็นปัจจัยหลักให้เกิดวิกฤตปี 2007) ขั้นตอนต่อไปคือการรวบรวมความเห็นต่อการปรับปรุงนี้ จากธนาคารและองค์กรควบคุมในประเทศต่างๆ และการศึกษาผลกระทบ (quantitative impact study) ก่อนที่คณะกรรมการจะออกข้อบังคับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในปี 2010 นี้เอง
ถึงแม้จะประมาณกันว่า ธนาคารจะมีเวลาอย่างน้อยถึงปี 2012 ที่จะปรับตัวเพื่อทำตามข้อบังคับใหม่นี้ แต่ประสพการณ์จากการนำ Basel II มาใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บอกเราว่า 2 ปีไม่ได้นานเลย เพราะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ตั้งแต่นโยบายสำคัญต่างๆ การพัฒนาแบบจำลอง ทดสอบสภาวะวิกฤต (stress test) การปรับขั้นตอนการทำงาน และการสร้างหรือซื้อระบบสารสนเทศใหม่ ดังนั้นถึงแม้ว่าข้อบังคับ Basel III (หรือ Basel II+) จะยังไม่แน่นอน เราก็ควรจะเตรียมตัวกันเสียแต่เนิ่นๆ
เป้าหมายหลักของ Basel III ได้แก่
- การเพิ่มความ "ทนทาน" ของสถาบันการเงิน ต่อวิกฤตในด้านต่างๆ
- การปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมในองค์กร (governance)
- การเพิ่มความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล
- การเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่มาก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบโดยรวมได้ (systemically significant banks)
โดยการเปลี่ยนแปลงหลักที่คณะกรรมการเสนอ ประกอบไปด้วย
- การเพิ่มคุณภาพของเงินกองทุนของธนาคาร ซึ่งรวมถึงการนิยามเงินกองทุนขั้นต่างๆ ที่มีความเข้มงวดขึ้น และให้นิยามเป็นสากลมากขึ้น
- การเพิ่มความครอบคลุมความเสี่ยงด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มนำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์ในบัญชีเพื่อการลงทุนและ securitization