ผมเห็นนักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยต่างๆ ออกมาเตือนหลายปีแล้ว ว่าหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยมีระดับที่สูง คือประมาณ 81% ของ GDP เมื่อสิ้นปี 2015 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก
ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่สูงจะกดดันให้กำลังซื้อและการบริโภคช้าลง และทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ยาก
ได้ยินแล้วก็เลยอยากจะเปรียบเทียบดูว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ว่านี้สูงต่ำซักแค่ไหนเทียบกับประเทศอื่นๆ
เมื่อลองหาดูพบว่าข้อมูลที่เข้าถึงง่ายที่สุดคือตัวเลขของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศตะวันตกก็น่าจะพอเป็นตัวเทียบวัดได้ แต่ปรากฎว่ามันไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะข้อมูลหนี้ครัวเรือน (Household Debt) ที่มีให้เข้าถึงได้ดันวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) ไม่ใช่เทียบกับ GDP อย่างที่เห็นรายงานกันในสื่อไทย
เนื่องจากผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่มีความรู้ว่าวัดเทียบกับอะไรดีกว่ากัน เลยลองหาดูก็เจอคำอธิบายในรายงานชื่อ Debt and (not much) deleveraging ของ McKinsey Global Institute ซึ่งผมคิดว่าวิเคราะห์เรื่องของหนี้ต่างๆ ทั่วโลกไว้ค่อนข้างดี และเค้าก็วัดหนี้ครัวเรือนเทียบกับรายได้หลังหักภาษีเหมือนกัน โดยให้เหตุผลไว้ว่า
- แต่ละประเทศมีสัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อ GDP ต่างกันเยอะ ดังนั้นการเปรียบเทียบหนี้ครัวเรือนกับรายได้ครัวเรือนจะได้ภาพภาระหนี้ที่ชัดเจนกว่า
- อัตราภาษีเงินได้ยิ่งต่างกันได้เยอะมาก เมื่อเราสนใจว่าหนี้จะกระทบความสามารถในการใช้จ่ายบริโภคต่างๆ แค่ไหน จึงควรจะดูว่าเมื่อเทียบปริมาณหนี้กับรายได้ที่สามารถเอามาใช้จ่ายได้จริง (หลังจ่ายภาษีเงินได้) แล้วมีระดับที่สูงแค่ไหน
ผมลองหาตัวเลข หนี้ครัวเรือนต่อรายได้หลังหักภาษี ของประเทศไทย ปรากฎว่าไม่เจอตัวเลขตรงๆ ที่ไหนเลย แต่เว็บไซท์ Trading Economics มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งเอามาคำนวณเองได้
หนี้ครัวเรือนต่อรายได้หลังหักภาษีของประเทศไทย ข้อมูลตั้งแต่ปี 1996-2014 เป็นแบบนี้
ในช่วงตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ภาระหนี้ครัวเรือนของเราสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับรายได้ โดยเมื่อสิ้นปี 2008 ตัวเลขอยู่ที่ 65% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาเป็น 124% ณ สิ้นปี 2014
ระดับหนี้ครัวเรือน 124% ของรายได้หลังหักภาษีนี้ ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นเมื่อตอนปี 1997 หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งใหม่ๆ
แม้ว่าถ้าเทียบกับตัวเลขของกลุ่มประเทศ OECD ด้านบน 124% ดูเหมือนจะอยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น แต่ถ้าสังเกตุดีๆ ประเทศที่มีตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงๆ มักจะเป็นประเทศที่รวย เช่นแถบสแกนดิเนเวีย ส่วนประเทศที่ยังไม่รวยในกลุ่มนี้ (แต่ GDP ต่อหัวก็ยังมากกว่าประเทศไทย) เช่นฮังการีหรือโปแลนด์ ระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 55-65% ของรายได้หลังหักภาษีเท่านั้นเอง เป็นแค่ครึ่งเดียวของประเทศไทย
ดังนั้นสำหรับคำถามที่ว่าภาระหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยหนักไหม ก็ตอบได้ว่าหนักครับ
แล้วแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของประเทศอื่นเพิ่มขึ้นมากเหมือนไทยไหม
ผมแบ่งแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของกลุ่มประเทศ OECD ออกเป็นสามกลุ่ม
- กลุ่ม 1 มีหนี้เพิ่มขึ้นมาก ระหว่างปี 2000-2008 และมีระดับหนี้ลดลงหลังจากนั้น หลายประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2007-2008 อย่างจัง และการลดระดับหนี้น่าจะเกิดขึ้นพร้อมความเจ็บปวดพอสมควร
- กลุ่มที่ 2 มีระดับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 15 ปีล่าสุด ซึ่งข้อมูลหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยมีลักษณะเข้ากลุ่มนี้ (เส้นสีแดง)
- กลุ่มที่ 3 มีแค่สองประเทศ คือเยอรมันและญี่ปุ่น มีหนี้ครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่องใน 15 ปีที่ผ่านมา
เปรียบเทียบภายในกลุ่มที่ 2 หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยแทบไม่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2000 ถึง 2007 แต่ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมากลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเปรียบเทียบนี้
ถ้ามีโอกาสจะลองคำนวณตัวเลขของประเทศในแถบอาเซียนอื่นๆ มาเปรียบเทียบอีกทีครับ
2 Comments